ตะกร้าสินค้า

ไม่พบสินค้าในรถเข็น

รังแค

ให้เรตสมาชิก: 0 / 5

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ลักษณะเป็นขุยขาวๆ หรือสะเก็ดแผ่นของผิวหนังศีรษะ เกิดจากการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติของเซลล์ชั้นบนของหนังศีรษะ ทำให้เกิดเป็นชั้นของเซลล์ที่ตายแล้วหลุดออกมา

เมื่อผสมกับเหงื่อหรือเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่บนหนังศีรษะย่อยเซลล์เหล่านี้ ได้เป็นสารที่ก่ออาการคันได้ คนที่เป็นน้อยจะพบเฉพาะขุยหรือสะเก็ดบนหนังศีรษะเท่านั้น ถ้าอาการรุนแรงขึ้นจะพบกระจายอยู่ในบริเวณอื่น นอกจากศีรษะ เช่น ไรผม หลังใบหู ร่อง 2 ข้างจมูก มุมปาก ซึ่งเราเรียกลักษณะนี้ว่า ซีบอริค เดอมาไตติส บางคนเป็นมาก ถึงกับพบบริเวณหน้าอกหรือทั่วตัวก็ได้

        ในผู้หญิงอ้วนมักพบบริเวณใต้หน้าอก บริเวณผิวที่มีผื่นสีแดงขอบซีด มีขุยสีเหลืองหรือมันเยิ้ม มักมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโมนิเลียง่าย อาจพบร่วมกับสิว ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงใดกับโซไรเอซิส (สะเก็ดเงิน) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะสะเก็ดสีเงินหนา บริเวณผิวหนัง ใบหน้า แขน หรือลำคอเมื่อขูดสะเก็ดออกจะมีเลือดออกซิบๆ ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่ารังแคน่าจะเป็นน้องๆ ของโซไรเอซิส อาการทั้งของรังแค, ซีบอริค–เดอมาไตติส และโซไรเอซิส จะรุนแรงในช่วงฤดูหนาว แต่บางคนเป็นตลอดปีก็มี เมื่อมีอาการคันมากๆ ก็จะเกา เกามากๆ ก็จะเกิดผิวแตกเป็นร่อง หรือรอยข่วน เชื้อแบคทีเรียจะเข้าแทรกซ้อน เกิดอาการติดเชื้ออักเสบ เป็นหนองพุพอง หรือ เป็นน้ำเหลืองแห้งตกสะเก็ดก็ได้

 

สาเหตุของรังแค

        สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด เข้าใจว่าตัวสำคัญคือ ลักษณะซึ่งถ่ายทอดติดต่อมาทางกรรมพันธุ์เฉพาะบุคคลร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ฮอร์โมน การติดเชื้อและสภาวะตึงเครียดทางอารมณ์ เชื่อว่าอาหารน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก บางคนสังเกตว่ารับประทาน น้ำตาล ช็อคโกแลต แอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดกำเริบมากขึ้น อย่างไรก็ตามวิตามินมีบทบาทสำคัญต่อโรคนี้

  • การขาดวิตามินบางชนิดในอาหาร จะทำให้เกิดรังแคอย่างมากและเป็นเหตุให้ผมร่วงได้
  • การบกพร่อง หรือขาด วิตามินเอทำให้เส้นผมแห้งด้าน ไม่เป็นมันเลื่อม แล้วหลุดร่วงไป แต่ถ้าได้รับมากไปจนถึงขั้นเป็นพิษ (พบน้อย) ก็อาจทำให้ผมร่วงได้
  • โปรตีนบางชนิดมีผลต่อการเจริญของผิวหนังและเส้นผม
  • ในผู้ที่ขาดแร่สังกะสีก็ให้ผลคล้ายรังแคได้

ผู้เชี่ยวชาญบางคน ตั้งข้อสังเกตว่าโรคนี้พบมากในคนลักษณะอ้วนลงพุง อายุประมาณ 40 ปี ชอบอาหารพวกนม เนย รับประทานเนื้อสัตว์น้อยหรือพวกที่หนังศีรษะมัน มีสิวหัวช้าง สิวหัวแดงเกิดขึ้นบ่อยๆ

 

การรักษา

  1. แยกโรคอื่นที่คล้ายกันออกไป เช่น โรคติดต่อเชื้อราของหนังศีรษะอาจเป็นวงขอบชัดบริเวณที่เป็นหรือพบวงตามตัว เมื่อขูดผิวหนังดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเชื้อต้นเหตุ, โรคอื่นๆ เช่น โซไรเอซิส ดังที่กล่าวมามักเป็นเฉพาะจุด ผิวหนังตกสะเก็ดหนาเป็นแห่งๆ ขูดมีเลือดออก (รังแค ขูดขุย หรือสะเก็ดจะไม่มีเลือดซึมออก)
  2. ค้นหาองค์ประกอบที่อาจทำให้โรคกำเริบ เช่น การขาดอาหาร วิตามิน การติดเชื้อ งดอาหารหวาน หรือมันจัด กินโปรตีนเพิ่มขึ้น ทำจิตใจให้เบิกบานออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานเกลือแร่สังกะสี และวิตามินบี (มีวิตามินบีครบทุกตัว) แพนโทเธนนิคแอซิค ประกอบกับการรับประทานอาหารให้ถูกส่วนทุกวันจะเห็นผลในระยะยาว
  3. ในรายที่เป็นน้อยๆ ใช้วิธีสระผมบ่อยขึ้นก็เพียงพอ คนปกติสระผม 5 – 7 วัน ต่อครั้งก็พอ แต่ถ้าสกปรกหรือมีไขมันมากก็ต้องสระผมบ่อยขึ้น อาจทุกวันก็ได้ แต่ถ้าผมแห้งควรห่างกันครั้งละประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งการสระผมบ่อยเกินกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อาจเป็นการกระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัวกำเริบขึ้น (เฉพาะราย)
  4. ถ้าสระผมแล้วยังไม่ได้ผล อาจใช้สารละลายขุยช่วยให้หลุดออกง่าย เช่น สารผสมกำมะถัน กรดซาลิไซลิค หรือน้ำมันดิบในรูปโลชั่น หรือยาสระผม สารที่ได้ผลดีกว่าคือสารที่ไปลดอัตราการแบ่งตัวของเซลล์หนังศีรษะ ทำให้ผิวลอกออกมาน้อยลง ได้แก่
    • ซีลีเนียมซัลไฟด์ 2 – 2.5% แต่ต้องระวังพิษถ้าใช้มากและนานเกินไป หรือล้างออกไม่หมดติดตามซอกเล็บมือ ต้องเก็บให้พ้นมือเด็ก อย่าเผลอรับประทานเข้าไปเนื่องจากมีพิษอย่างมากต่อตับ 
    • น้ำมันทีทรี 0.5% ใช้ป้องกันเชื้อรา pityrosporum ovale ซึ่งทำให้เกิดรังแค
  5. ในรายรุนแรง  เช่น มีอาการอักเสบ เป็นวงแดงๆ สะเก็ดเป็นแผ่นและมีน้ำหนักมาก อาจต้องใช้พวกสาร สเตียรอยด์ ทาหรือรับประทาน
    •     ถ้าเป็นทั่วตัว แนะนำให้แช่น้ำประปา น้ำเกลือ (นอร์มอลซาไลน์) หรือน้ำนม วันละ 15 นาที การอาบแสงอุลตร้าไวโอเลทสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ก็ช่วยได้
    •     บริเวณข้อพับ มักอับชื้นมีการติดเชื้อโมนิเลีย ควรชำระด้วยน้ำยาเบอร์โรว์  วันละ  3  ครั้ง  แล้วใช้ยาทาที่ผสมสเตียรอยด์และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อยีสต์ ไม่ควรสัมผัสสบู่ ให้ใช้เจลทำความสะอาดแทน
    •     ควรป้องกันการเสียดสีและเหงื่อออก โดยการนอนพักผ่อนในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกและเย็นสบาย

ในคนอ้วนควรตรวจเลือดเพื่อค้นหาโรค เบาหวาน ซึ่งอาจมีอยู่และเป็นสาเหตุให้อาการเหล่านี้กำเริบได้

 

สรุปความรู้สู้รังแค

  1. ในผู้ที่ผิวมัน เพียงตัดผมสั้น แล้วสระผมด้วยแชมพูอ่อนๆ ทุกวัน
  2. หน้าหนาว หรือผู้อยู่ห้องแอร์ อาจชโลมเส้นผมด้วยน้ำมันมะพร้าว VCO ตอนเช้า (ไม่ควรทำก่อนนอนเพราะจะเปรอะเปื้อนหมอนที่นอน) อย่าเกรงว่า ผิวก็มันอยู่แล้ว ยังเพิ่มน้ำมันโปะเข้าไปอีก มิยิ่งเพิ่มความมันรึเปล่า ธรรมชาติของผิวนั้น ต่อมไขมันจะขับไขมันออกมาหล่อเลี้ยงปกป้องผิว ดีกว่าปล่อยให้แห้ง ครั้นพอผิวรับรู้ว่ามีน้ำมัน (จากภายนอก) เพียงพอแล้ว ก็มักหยุดสร้าง หยุดขับไขมันออกมาเป็นอัตโนมัติ ก็เข้าสูตรเดียวกับวิธีแก้หน้ามัน
  3. ผู้ที่อาการรุนแรง อาจสระด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของไพรอคโทน โอลามีน ซิงค์โอมาดีน หรือซิงค์ไพริไทออล หรือเซลีเนียม ซัลไฟด์ โดยควรใช้สลับกัน ดีกว่าใช้ชนิดใดชนิดเดียวเป็นประจำ
  4. ลองเพิ่ม / ลดอาหารทำนองสะเก็ดเงิน คือลดโอเมก้า6 จากน้ำมันพืชทั้งหลาย โดยใช้น้ำมันรำข้าวปรุงอาหารแทน เพิ่มน้ำมันปลาโอเมก้า3 สังกะสี แมกนีเซียม โคลีน วิตามินบี ลดแป้ง น้ำตาล ของทอด ขบเคี้ยวกรุบกรอบทั้งหลาย
  5. แต่หากเอาไม่อยู่หรือเรื้อรัง ก็คงต้องใช้แชมพูยาที่ผสมคีโตโคนาโซล สักพักเพื่อฆ่าเชื้อ พี.โอวัลเล (P.ovale) อีกหนึ่งตัวต้นเหตุ

EasyCookieInfo